คณาจารย์และเจ้าหน้าที่
รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรัช เลาห์วีระพานิช
Assoc. Prof. Teerus Laohverapanich, D.F.A.
รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์กร
Associate Dean for Student and Communication Affairs
วุฒิการศึกษา
ศป.ด. (ดุริยางคศิลป์ตะวันตก) ศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศล.ม. (ดนตรี) วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต
ศศ.บ. (ดนตรี) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
วิชาที่สอน
พื้นฐานดนตรีแจ๊ส
ทฤษฎีดนตรีแจ๊สและการอิมโพรไวส์
ดนตรีแจ๊สและการวิเคราะห์
วงดนตรีแจ๊ส
ดนตรีปฏิบัติ
ประวัติ
นักแซกโซโฟนแจ๊ส อาจารย์ประจำแขนงวิชาดนตรีแจ๊สศึกษา วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต เริ่มฝึกแซกโซโฟนตอนอายุ 13 ปี โดยเป็นสมาชิกวงโยธวาทิตของโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ควบคุมวงโดย อ.ประทีป จันทร์แจ่ม เมื่ออายุ 17 ปี ได้ศึกษาแซกโซโฟนคลาสสิกกับ รศ. ดร.สุกรี เจริญสุข ทำให้เกิดความสนใจทางดนตรีอย่างจริงจัง จากนั้นในปี พ.ศ. 2542 เข้าศึกษาระดับปริญญาตรี ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยศึกษาดนตรีแจ๊สกับ ผศ. ดร.เด่น อยู่ประเสริฐ อ.กฤษณ์ บูรณวิทยวุฒิ อ.นพดล ถิรธราดล และ Dan Phillips ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 ศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต จากนั้นในปี พ.ศ. 2555 ศึกษาต่อในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ The Prince Claus Conservatoire of the Hanze University ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยมีโอกาสศึกษาแซกโซโฟนกับ Michael Moore และ Ben van Gelder และในปี พ.ศ. 2560 ศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2563 ผลงานบทประพันธ์เพลงดุษฎีนิพนธ์: นวนิยาย “เพชรพระอุมา” สำหรับวงซินทีสิสแจ๊สออนซอมเบิล ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ: รางวัลวิทยานิพนธ์ ประจำปี 2564 (ระดับดี) สาขาปรัชญา จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ธีรัชเริ่มงานทางด้านการศึกษาที่วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต หลังจากจบปริญญาตรีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบัน โดยเน้นการสอนวิชาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับดนตรีแจ๊สทั้งด้านปฏิบัติดนตรีและทฤษฎี อาทิ วิชาดนตรีปฏิบัติ วิชาปฏิบัติรวมวงแจ๊ส วิชาพื้นฐานดนตรีแจ๊ส วิชาทฤษฎีดนตรีแจ๊สและการอิมโพรไวส์ และวิชาดนตรีแจ๊สและการวิเคราะห์ ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2557-2560 เขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหลักสูตรดุริยางคศาสตรมหาบัณฑิต สำหรับงานทางด้านวิชาการ ธีรัชนำเสนอผลงานทางวิชาการทั้งงานสร้างสรรค์และงานวิจัยเกี่ยวกับดนตรีแจ๊สอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบการเขียน การบรรยาย และการแสดง นอกจากนี้ เขายังดำรงตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการวารสารดนตรีรังสิต (TCI 1)
นอกจากความหลงใหลในดนตรีแจ๊สแล้ว เขาไม่เคยปิดกั้นโอกาสทางการบรรเลงดนตรีในรูปแบบต่าง ๆ เขามักจะนำการอิมโพรไวส์ของดนตรีแจ๊สไปบรรเลงผสมผสานกับดนตรีรูปแบบอื่นอยู่เสมอ หากย้อนไปตั้งแต่แรกเริ่มชีวิตการเป็นนักดนตรีของเขา ในปี พ.ศ. 2548 ธีรัชก่อตั้งวง Almost There ซึ่งเป็นวงดนตรีแจ๊สที่ผสมผสานดนตรีร็อค (Rock Music) และดนตรีทดลอง (Experimental Music) เพื่อส่งเข้าประกวดในงาน Thailand Jazz Competition ครั้งที่ 1 (ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ) และครั้งที่ 2 (ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง) นอกจากนี้ ยังมีผลงานบันทึกเสียงอยู่ในชุด Tribute to Miles Davis ซึ่งเป็นผลงานบันทึกเสียงที่รวมเหล่าศิลปินแจ๊สชั้นนำของประเทศไทยในช่วงเวลานั้น ในปีเดียวกันนั้นเอง (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ถึงปัจจุบัน) ธีรัชร่วมเป็นสมาชิกวงทีโบน ซึ่งเป็นวงดนตรีแนวเร็กเก-สกา (Reggae-Ska) ที่ผสมผสานดนตรีแจ๊สได้อย่างลงตัว วงทีโบนได้รับการยกย่องว่าเป็นวงแนวเร็กเก-สกา อันดับหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งเขาได้ร่วมแสดงและบันทึกเสียงกับวงทีโบนมาโดยตลอด ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 ธีรัชร่วมบันทึกเสียงกับ ผศ. ดร.เด่น อยู่ประเสริฐ ในผลงานชุด “Masterpiece” อัสนี-วสันต์ เป็นผลงานบันทึกเสียงที่ผสมผสานระหว่างดนตรีแจ๊สกับดนตรีสมัยนิยม (Pop Music) ผลงานชุดนี้ได้รับรางวัล คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 6 สาขาเพลงบรรเลงยอดเยี่ยม นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2557 ธีรัชเป็นสมาชิกวงด้วงแมงแสดงธรรม ซึ่งเป็นวงดนตรีแนวคีตธรรม นำเสนอเนื้อคำสอนหาของพระพุทธศาสนา โดยมีจุดประสงค์เพื่อเชิญชวนให้ผู้คนหันมาสนใจปฏิบัติธรรมภาวนา และในปี พ.ศ. 2561 ธีรัชผลิตผลงานการบันทึกเสียงชุด Schizophreniac ร่วมกับวงไตรสร (Trisara) ซึ่งเป็นผลงานที่การผสมผสานดนตรีแจ๊สร่วมกับดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Music) โดยเน้นการบรรเลงด้วยวิธีการอิมโพรไวส์แบบฟรีแจ๊ส (Free Jazz)
ที่ผ่านมาธีรัชร่วมแสดงในงานเทศกาลดนตรีมากมายทั้งในและต่างประเทศ อาทิ WOMAD Festival 2006 (Singapore), Glastonbury Festival 2007 (England), Taichung Jazz Festival 2008 in (Taiwan), Kinestatia Festival 2010 (Singapore), Mosaic Music 2011 (Singapore), Pentaport Rock Festival 2012 (Korea), Big Mountain Music Festival, Jazz Up Bangkok, Huahin Jazz Festival, True Jazz Festival, Thailand International Jazz Conference
email: teerus.l@rsu.ac.th
facebook: www.facebook.com/cooksax
© 2019
Rangsit university
Conservatory
of music
วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต
เลขที่ 52/347 หมู่บ้านเมืองเอก ถ.พหลโยธิน
ต.หลักหก อ.เมือง จ.ปทุมธานี 12000
โทรศัพท์ : 02-791-6259
โทรสาร : 02-791-6263
อีเมล : rsumusic@rsu.ac.th